doctor at home: ฝ้า (Melasma/Chloasma) ฝ้า เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง
พบมากในช่วงอายุ 30-40 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า
ฝ้าแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ (1) ฝ้าตื้น (epidermal melasma) เป็นฝ้าที่อยู่ในผิวหนังชั้นนอกหรือหนังกำพร้า มีลักษณะเป็นรอยสีน้ำตาลเข้ม มีขอบชัด (2) ฝ้าลึก (dermal melasma) เป็นฝ้าที่อยู่ในชั้นลึกหรือหนังแท้ มีลักษณะเป็นรอยสีน้ำตาลอ่อน หรือสีฟ้าอมเทา มีขอบไม่ชัด (3) ฝ้าผสม (mixed melasma) คือมีทั้งฝ้าตื้นและฝ้าลึกผสมกัน ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด
สาเหตุ
เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocyte) ในชั้นหนังกำพร้าหรือชั้นหนังแท้ถูกกระตุ้นให้มีการสร้างเม็ดสี (pigment) มากกว่าปกติ เชื่อว่าเป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ที่สำคัญได้แก่
ฮอร์โมนเพศ พบว่าฝ้ามักเกิดในหญิงขณะตั้งครรภ์ระยะไตรมาสที่ 2 และ 3 หรือกินยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทนสำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือน และผื่นจะจางลงหลังคลอดหรือหยุดยา
แสงอัลตราไวโอเลต พบว่าผู้ที่ถูกแสงแดดบ่อย ๆ มีโอกาสเป็นฝ้าได้ง่าย
กรรมพันธุ์ พบว่ามากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยมีประวัติโรคนี้ในครอบครัว
การใช้ยา อาทิ ยากันชัก (เช่น เฟนิโทอิน, clobazam), ยาขับปัสสาวะ, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy drugs) เป็นต้น
ภาวะขาดไทรอยด์
การแพ้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารให้กลิ่นหอมหรือสี
ความเครียดทางจิตใจก็อาจกระตุ้นให้ฝ้ากำเริบในผู้ป่วยบางรายได้
อาการ
มีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลเข้ม มีขอบชัด หรือปื้นสีน้ำตาลอ่อนหรือฟ้าอมเทา มีขอบไม่ชัด บางรายอาจขึ้นเป็นผื่นเล็ก ๆ คล้ายกระ
ส่วนใหญ่จะมีรอยโรคที่บริเวณใบหน้าส่วนที่ถูกแสงแดดหรือแสงไฟฟลูออเรสเซนต์มาก ๆ ได้แก่ หน้าผาก โหนกแก้ม คาง ดั้งจมูก บริเวณร่องเหนือริมฝีปากบน มักจะเกิดขึ้นทีละน้อยอย่างช้า ๆ โดยมีรอยโรคเหมือน ๆ กันและขนาดที่เท่า ๆ กันขึ้นที่ใบหน้าทั้งฝั่งซ้ายและขวา
บางรายอาจพบที่คอ ไหล่ ต้นแขน และปลายแขนส่วนที่ถูกแสงแดดหรือแสงไฟฟลูออเรสเซนต์ร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อน
ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากทำให้รู้สึกไม่สวยงาม
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก
บางรายแพทย์อาจใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Wood's lamp ส่องตรวจดูว่าเป็นฝ้าชนิดตื้นหรือลึก และช่วยแยกออกจากโรคติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา
หากสงสัยว่าเป็นโรคผิวหนังชนิดอื่น ๆ แพทย์จะทำการตัดเนื้อเยื่อผิวหนังไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ และหากสงสัยว่าเกิดจากภาวะขาดไทรอยด์ แพทย์จะทำการตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะตรวจหาสาเหตุและแก้ไขสาเหตุที่พบ แนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย และให้การรักษาฝ้า ดังนี้
1. ใช้ยาลอกฝ้า ได้แก่ ไฮโดรควิโนน (hydroquinone) ชนิด 2-4% ทาวันละ 2 ครั้ง จะช่วยลดการสร้างเม็ดสี ทำให้ฝ้าจางลงได้ ยานี้อาจทำให้แพ้ได้ จึงควรทดสอบโดยทาที่แขน แล้วทิ้งไว้ 2-3 วัน (ห้ามล้างออก) ดูว่ามีผื่นแดงหรือไม่ ถ้ามีก็ห้ามใช้
ยานี้อาจผสมกับกรดเรติโนอิก ชนิด 0.01-0.05% และสเตียรอยด์ ทำเป็นครีมยี่ห้อต่าง ๆ
2. ใช้ยากันแดด ได้แก่ พาบา (PABA ซึ่งย่อมาจาก para-aminobenzoic acid) ทาตอนเช้า หรือก่อนออกกลางแดด หรือถูกแสงไฟแรง ๆ ควรใช้ชนิดที่มีความสามารถในการกรองแสง (sun protective factor/SPF) มากกว่า 30 ขึ้นไป ยานี้อาจทำให้แสบตา แสบจมูก เป็นสิว หรือแพ้ได้
โดยทั่วไปมักจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าอาการจะดีขึ้น และจะต้องใช้ยากันแดดไปเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันการกลับเป็นฝ้าอีก
บางกรณีแพทย์อาจให้การรักษาด้วยการลอกหน้าด้วยสารเคมี (chemical peeling) เช่น กรดไตรคลอโรอะซีติกชนิด 30% หรือกรดไกลโคลิก (glycolic acid) 50% ซึ่งต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวหนังเป็นสีดำคล้ำจากการอักเสบ การติดเชื้อ แผลเป็น เป็นต้น
บางรายแพทย์อาจให้การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หลังจากทำแล้วผิวหนังบริเวณนั้นจะบางลง เมื่อถูกแสงแดดก็อาจทำให้เป็นฝ้าขึ้นมาได้อีก
ผลการรักษา โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง การรักษาและการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น (เช่น แสงแดด ยาเม็ดคุมกำเนิด ความเครียด) ช่วยให้ฝ้าทุเลาได้ดี แต่เมื่อหยุดยาก็มักกำเริบใหม่ ยกเว้นฝ้าที่เกิดในหญิงขณะตั้งครรภ์ หรือกินยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทน หลังคลอดหรือหยุดยา รอยฝ้าจะจางลงจนหายเป็นปกติ
สำหรับฝ้าตื้น (ในชั้นหนังกำพร้า) มักจะรักษาได้ผลดี แต่ฝ้าลึก (ในชั้นหนังแท้) การใช้ยาอาจได้ผลช้าหรือไม่ได้ผลเท่าที่ควร
การดูแลตนเอง
ถ้ามั่นใจหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นฝ้า ควรดูแลตนเองดังนี้
ใช้ยาทาลอกฝ้าตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดหรืออยู่ในที่กลางแจ้ง และการอยู่ในที่ที่มีแสงไฟฟลูออเรสเซนต์สว่างมาก
ถ้าจำเป็นต้องออกกลางแดด ควรใช้เครื่องป้องกัน (เช่น ร่ม หมวก หน้ากาก) ที่สามารถกันแสงอัลตราไวโอเลต ใส่เสื้อสีขาวแทนเสื้อสีเข้ม เพื่อลดการดูดกลืนแสงอัลตราไวโอเลต
ใช้ยากันแดดทาตอนเช้าหรือก่อนออกกลางแดด ควรใช้ชนิดที่มีความสามารถในการกรองแสง (sun protective factor/SPF) มากกว่า 30 ขึ้นไป
หลีกเลี่ยงการกินยาคุมกำเนิด ถ้าจำเป็นใช้การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น
หากสงสัยรอยฝ้าเกิดจากเครื่องสำอาง ให้หยุดใช้เครื่องสำอาง
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ใช้ยาลอกฝ้า 2-3 สัปดาห์แล้วไม่ทุเลา หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
ใช้ยาลอกฝ้าแล้วมีอาการผื่นคัน รอยแดง รอยด่าง หรือหน้าขาววอก
มีอาการหนังตาบวม เส้นผมบางและหักง่าย ผิวหนังหยาบแห้งและเย็น ขี้หนาว เฉื่อยชา คิดช้า หรือสงสัยมีภาวะขาดไทรอยด์
สงสัยว่ารอยฝ้าเกิดจากการใช้ยาบางชนิด
มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
การป้องกัน
หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดหรืออยู่ในที่กลางแจ้ง และการอยู่ในที่ที่มีแสงไฟฟลูออเรสเซนต์สว่างมาก
ถ้าจำเป็นต้องออกกลางแดด ควรใช้เครื่องป้องกัน (เช่น ร่ม หมวก หน้ากาก) ที่สามารถกันแสงอัลตราไวโอเลต ใส่เสื้อสีขาวแทนเสื้อสีเข้ม เพื่อลดการดูดกลืนแสงอัลตราไวโอเลต
ใช้ยากันแดดทาตอนเช้าหรือก่อนออกกลางแดด ควรใช้ชนิดที่มีความสามารถในการกรองแสง (sun protective factor/SPF) มากกว่า 30 ขึ้นไป
หลีกเลี่ยงการกินยาคุมกำเนิด ถ้าจำเป็นใช้การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น
ข้อแนะนำ
1. ฝ้าที่เกิดจากการตั้งครรภ์ หรือกินยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทน อาจหายได้เองหลังคลอดหรือหลังหยุดใช้ยา อาจใช้เวลาเป็น 2 เท่าของระยะเวลาที่กินยา เช่น ถ้ากินยาอยู่นาน 1 ปี ก็อาจใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าฝ้าจะหาย
2. ยารักษาฝ้าบางชนิด อาจมีสารเคมีที่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocytes) ทำให้หน้าขาววอก หรือเป็นรอยแดงหรือรอยด่างอย่างน่าเกลียด ดังนั้นจึงควรระมัดระวังอย่าซื้อยาลอกฝ้ามาทาเองอย่างส่งเดช โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่โฆษณาว่าทำให้หายได้ทันที
ยาลอกฝ้าที่เข้าสารปรอท อาจทำให้ฝ้าจางลง แต่อาจมีอันตรายจากการสะสมปรอทที่ผิวหนังและในร่างกายได้
3. ในการรักษาฝ้า อาจต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน หรืออาจไม่มีทางรักษาให้หายขาด เพียงแต่ใช้ยากันแดดและยาลอกฝ้าทาไปเรื่อย ๆ ถ้าหยุดยาอาจกำเริบได้ใหม่
ฝ้าที่อยู่ตื้น ๆ (สีน้ำตาลหรือน้ำตาลเข้ม) มักจะรักษาได้ผลดี แต่ฝ้าที่อยู่ลึก (สีน้ำตาลเทาหรือสีดำ) อาจได้ผลช้าหรือไม่ได้ผลเลย
4. การลอกหน้า ขัดผิวตามร้านเสริมสวย นอกจากจะไม่ช่วยในการรักษาฝ้าแล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น การแพ้สัมผัส จึงไม่แนะนำให้ไปลอกหน้า ขัดผิว
5. อาการผื่นหรือปื้นแดง ๆ คล้ำ ๆ ขึ้นที่ใบหน้า นอกจากฝ้าแล้วยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เอสแอลแอล ซึ่งจะมีผื่นแดงขึ้นที่แก้ม 2 ข้าง (คล้ายปีกผีเสื้อ) เวลาถูกแดดร่วมกับอาการอื่น ๆ โรคแอดดิสัน ซึ่งผิวหนังจะมีสีดำคล้ำในบริเวณที่มีรอยถูไถตามส่วนต่าง ๆ รวมทั้งที่ใบหน้า เป็นต้น ดังนั้นถ้าให้การรักษาฝ้าไม่ได้ผล หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้ อ่อนเพลีย เป็นลม ปวดข้อ ผมร่วง เป็นต้น ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด