COVID19 กับ โรคเบาหวาน อันตรายอย่างไร? ผู้ป่วยโรคเบาหวานหากติดโควิด-19 จะพบความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงจริงหรือไม่? หากเป็นโควิดแล้วจะเป็นเบาหวานตามมาจริงหรือ? ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เมื่อใดที่ควรจะมาตรวจเช็กอาการ และ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรฉีดวัคซีนโควิดไหม?
ผู้ป่วยเบาหวานติดโควิด
เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า!
จากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงมากขึ้นในการป่วยเป็นโรคโควิดจริงไหมคะ?
จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานจะติดโควิดได้มากกว่าคนปกติหรือไม่ โดยอัตราการติดเชื้อพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติเมื่อเทียบเท่ากับคนทั่วไปครับ
เมื่อเปรียบเทียบจากเคสผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน แล้วเกิดติดเชื้อโควิด จะมีอาการรุนแรงหรือปอดอักเสบขั้นรุนแรงมากกว่าคนปกติจริงไหมคะ?
หากพูดถึงอาการแล้ว อันนี้สามารถเห็นได้ชัดเจนเลยครับ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากติดโควิดแล้ว จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานอย่างชัดเจน โดยจากข้อมูลพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอาการปอดอักเสบรุนแรงมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า และมีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานกลุ่มไหนบ้างคะ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง
ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่จะเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง คือ กลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี หมายถึง ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในตอนเช้าสูงกว่า 130 mg/dl หรือมีระดับน้ำตาลสะสมเฉลี่ย 3 เดือน หรือ HbA1C มากกว่า 7 mg% ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีโอกาสเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิดได้มากกว่าคนปกติ รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีน้ำหนักตัวเยอะ หรือมีภาวะอ้วน เนื่องจากภาวะดังกล่าวถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคที่รุนแรงครับ
นอกจากนี้ เท่าที่สังเกตแล้ว ยังพบด้วยว่า มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเลยนะคะ ที่เพิ่งจะมาทราบทีหลังว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวานหลังจากติดเชื้อโควิดมาแล้ว แล้วถ้าเกิดกรณีแบบนี้เราจะมีวิธีในการสังเกตได้อย่างไร รวมถึงเมื่อไรที่เราควรจะมาตรวจเบาหวานกันคะ
ตอบคำถามเรื่อง เมื่อไรที่เราควรจะมาตรวจเบาหวานกันนะครับ ก็ต้องขอบอกว่า คนที่ควรมาตรวจเบาหวาน คือคนที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง มาเช็กกันนะครับว่าคุณเข้าข่ายหรือยัง?
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน ได้แก่
ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ หรือมี BMI มากกว่า 23 (สำหรับคนเอเชีย)
ผู้ที่อ้วนลงพุง คือ ผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตร และผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตร
ผู้ที่มีประวัติครอบครัวหรือมีญาติสายตรง พ่อแม่ พี่น้อง ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
ผู้หญิงที่มีประวัติป่วยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดบุตรที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด
ผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีถุงน้ำในรังไข่ (PCOS)
กลุ่มเหล่านี้ คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แนะนำให้มาเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ แต่ถ้าไม่มีความเสี่ยงใดๆ เลย ตามที่หมอกล่าวมาข้างต้น แนะนำให้ควรมาเข้ารับการตรวจเช็กเบาหวานเมื่อมีอายุ 35 ปีขึ้นไปครับ
ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตามค่ะ ถ้ารู้ตัวว่ามีความเสี่ยงเหล่านี้ อย่าลืมมาตรวจเช็กเพื่อป้องกันความเสี่ยงนะคะ แต่ถ้าไม่ได้มีความเสี่ยงก็ควรมาเข้ารับการตรวจเมื่ออายุเกิน 35 ปีค่ะ โดยควรตรวจเช็กทุกคนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ใช่ครับ ในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง ก็สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีได้ครับ โดยตรวจเช็กระดับน้ำตาลจากเส้นเลือดดำ โดยการเจาะเลือดว่าร่างกายมีระดับน้ำตาลสูงเข้าเกณฑ์การเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ครับ
มีคนถามเข้ามากันเยอะมากเลยค่ะว่าไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อนเลย แต่หลังจากที่ป่วยเป็นโควิดแล้วอยู่ดีๆ ก็พบว่ามีโรคเบาหวาน พบว่าผู้ป่วยกรณีแบบนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูงไหมคะ?
อันนี้ต้องแยกเป็นกรณีนะครับ กรณีแรก อาจจะเกิดจากการที่ผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน แล้วมารู้ตัวอีกทีว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานตอนที่ป่วยเป็นโควิด เนื่องจากมีการตรวจร่างกายแล้วพบว่าป่วยเป็นโรคเบาหวานอยู่ด้วยครับ ซึ่งกรณีนี้มีไม่น้อยเลยทีเดียว กรณีที่สอง เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นตัวก่อโรคโควิด เข้าไปจับกับเซลล์ตับอ่อน ทำให้เซลล์ตับอ่อนเกิดความเสียหาย และทำให้ร่างกายสามารถสร้างอินซูลินได้น้อยลง ทำให้ร่างกายเกิดเป็นเบาหวานขึ้นมาในระหว่างที่ป่วยเป็นโควิดได้ครับ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะมีภาวะน้ำตาลสูงเพียงชั่วคราว หรืออาจจะเป็นโรคเบาหวานเลยก็ได้ ซึ่งกรณีนี้ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมครับ
เหมือนกับว่าเบาหวานนี้ สามารถกลายเป็นกลุ่มอาการหนึ่งของภาวะลองโควิด (Long Covid) หรือ Post-COVID Condition ได้เช่นกันนะคะ ซึ่งเรายังคงต้องติดตามผลศึกษาที่ชัดเจนต่อไปค่ะ นอกจากนี้แล้วเรายังพบว่า ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด ยังไปกระตุ้นให้ระดับน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วยใช่ไหมคะ?
ใช่เลยครับ เพราะว่าในการรักษาผู้ป่วยโควิด จะมีการใช้ยากลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) ถือได้ว่าแทบจะเป็นกลุ่มตัวยาหลักที่ใช้ในการรักษาคนไข้โรคเบาหวานที่มีอาการปอดอักเสบ ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำตาลสูงมากๆ แม้ว่าคนไข้จะไม่เคยป่วยเป็นเบาหวานมาก่อน อาจจะมีเพียงปัจจัยเสี่ยงในการเป็นเบาหวานเท่านั้น แต่เมื่อได้รับสเตียรอยด์เข้าไปแล้ว ก็จะทำมีระดับน้ำตาลสูงได้ครับ หรือแม้กระทั่งคนไข้ที่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานอยู่ก่อน ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี เมื่อได้รับยาสเตียรอยด์เข้าไปก็พบว่ามีน้ำตาลสูงขึ้นไปได้อีก หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดี ก็จะยิ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในร่างกายไม่ดี ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก จำเป็นต้องมีการวางแผนหรือปรับเปลี่ยนแนวทางในระหว่างการรักษาครับ
สรุปง่ายๆ เลยนะคะ เชื้อโควิดเป็นตัวการที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยแย่ลง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณีด้วยกันค่ะ
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว แต่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน พบว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวานเมื่อติดเชื้อโควิด
เชื้อโควิดเข้าไปทำลายเซลล์ตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน
ตัวยาที่ใช้รักษาโควิด เข้าไปกระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะดูแลตนเองอย่างไรในช่วงที่มีเชื้อโรคแพร่ระบาดแบบนี้บ้างคะ?
การดูแลตนเองนี้เป็นเรื่องสำคัญเลยนะครับ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ช่วงโควิด-19 การใช้ชีวิตของเราก็จะต้องเปลี่ยนไป บางท่านอาจจะมีการ Work from home เรื่องอาหารการกินอาจจะเลือกได้ยากมากขึ้น อันดับแรกเลย ขอให้ควบคุมน้ำตาลให้ดีครับ ปรึกษาแพทย์ที่รักษาประจำว่า จะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรบ้างไหม สำหรับใครที่คุมน้ำตาลได้ดีอยู่แล้ว ก็ให้รักษาระดับนั้นไว้ครับ แต่ถ้าใครคุมน้ำตาลได้ไม่ดี ก็ให้พยายามปรับการรักษาเพื่อให้คุมน้ำตาลได้ดีขึ้นครับ
ข้อสอง ควรจัดสต็อคยาให้เพียงพอ อย่างน้อยต้องมีไว้สำหรับ 2 สัปดาห์นะครับ เพราะว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ อย่าขาดยาเด็ดขาดนะครับ เพราะจะส่งผลเสียที่ร้ายแรงได้ครับ
ข้อที่สามจะเป็นเรื่องอาหารการกินครับ ช่วงนี้หลายๆ ท่านคงมีการสั่งอาหารทางเดลิเวอรี่มารับประทานที่บ้าน อย่าลืมเลือกอาหารที่มีน้ำตาลต่ำ หรือมีคาร์โบไฮเดรตต่ำด้วยนะครับ ข้อต่อมาคือ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะผู้ป่วยเบาหวานถ้าเกิดการขาดน้ำ จะทำให้มีภาวะน้ำตาลสูงแบบรุนแรง ดังนั้นต้องดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยประมาณ 2-3 ลิตรต่อวันครับ อาจจะมีการเตรียมน้ำหวานไว้ที่บ้านด้วยนะครับ เผื่อเกิดภาวะน้ำตาลต่ำโดยไม่คาดคิด และควรมีเบอร์ติดต่อโรงพยาบาล แพทย์ประจำตัว คนใกล้ชิด ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เกิดหมดสติ จะได้มีคนคอยช่วยเหลือได้ครับ สุดท้ายอย่าลืมสังเกตอาการของตัวเองให้ดีครับ ถ้าเกิดมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ให้รีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดครับ
ผู้ป่วยโรคเบาหวานฉีดวัคซีนโควิด ได้ไหม?
นอกจากการดูแลตัวเองตามที่หมอมิคแนะนำแล้ว อย่าลืมไปฉีดวัคซีนกันด้วยนะคะ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน แนะนำให้ฉีดวัคซีนในทุกกรณีค่ะ โดยจะเป็นวัคซีนชนิดใดก็ได้ที่ผ่านการรับรองและสามารถเข้าถึงได้เร็วที่สุดค่ะ
มีคำแนะนำไหมครับเกี่ยวกับวัคซีนโควิด ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรฉีดวัคซีนโควิดยี่ห้อไหนดี แล้วจะต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้างครับ
จริงๆ แล้ว วัคซีนโควิดทุกชนิดสามารถป้องกันความรุนแรงได้ทั้งหมดค่ะ แต่ถ้าหากเลือกได้ แนะนำให้เลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ตั้งแต่วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector Vaccines) เช่น แอสตราเซนเนก้า (AstraZeneca) หรือ วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม หรือวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer), โมเดอร์นา (Moderna) ค่ะ หรือวัคซีนอะไรก็ได้ที่สามารถเข้าถึงได้เร็วที่สุดค่ะ ในกรณีที่ผู้ป่วยฉีดวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccines) มาแล้วเกิน 3 เดือน แนะนำให้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ เพราะว่าโควิดน่าจะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ อย่างน้อยน่าจะอีก 2-3 ปีเลยค่ะ สุดท้ายนี้หมอขอฝากให้ทุกคนไปฉีดวัคซีนกันนะคะ และควบคุมโรคประจำตัวของตัวเองให้ดี และขอให้ทุกคนปลอดภัยค่ะ
ศูนย์ข้อมูลโควิด-28: เตือน อันตรายแค่ไหน? หากผู้ป่วยโรคเบาหวานติดเชื้อโควิด อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/covid-19